ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีส่วนสัมพันธ์อย่างมากต่อการใช้ ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยได้ประสบกับสถานการณ์การขาดแคลนน้ำและ ภัยแล้งมาอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ และมีแนวโน้มทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น จากความแปรปรวนของ สภาพภูมิอากาศ ความต้องการใช้น้ำที่มากขึ้น การขยายพื้นที่เกษตรกรรม และการเจริญเติบโตของ อุตสาหกรรม สำหรับการกำหนดนิยามของภัยแล้งนั้น ได้มีอยู่กว้างขวางและมีความแตกต่างกันไปตามบริบท ของลักษณะทางภูมิภาค ปัจจัยด้านอุตุ-อุทกวิทยา และผลกระทบที่เกิดขึ้น The U.S. National Drought Policy Commission (NDPC) (2543) ได้ให้ความหมายภัยแล้ง คือ “การขาดความชื้นในอากาศ หรือบนผิวดิน อย่างผิดปกติและต่อเนื่อง ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อพืช สัตว์ หรือมนุษย์” (WMO, 2000) และกรมอุตุนิยมวิทยา ได้กำหนดนิยาม ภัยแล้ง คือ “ภัยที่เกิดจากการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นเวลานาน จนก่อให้เกิด ความแห้งแล้ง และส่งผลกระทบต่อชุมชน” (กรมอุตุนิยมวิทยา, 2557)
นอกจากนั้น ภัยแล้ง ยังหมายถึง “ภัย ที่เกิดจากการขาดแคลนน้ำดื่ม น้ำใช้ พืชพันธุ์ไม้ต่างๆ ขาดน้ำ ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ตามปกติ ในพื้นที่ใด พื้นที่หนึ่งเป็นเวลานาน จนก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหาย และส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อชุมชน สังคม และระบบเศรษฐกิจโดยรวม” (กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณาภัย, 2558) อย่างไรก็ตาม จากคำจำกัดความภัยแล้ง ที่มีอย่างหลากหลายนั้น แต่โดยรวมแล้ว ความหมายของภัยแล้งมีความหมายใกล้เคียงกัน คือ “ภัยธรรมชาติ อันเกิดจากการมีฝนตกน้อยหรือฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลทำให้เกิดสภาวะการขาดแคลนน้ำในพื้น ที่ใดพื้นที่หนึ่ง ทั้งด้านน้ำอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งเป็นสาเหตุให้พืชพรรณต่างๆ ได้รับผลกระทบ ทำให้พืช ชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตไม่สมบูรณ์เกิดความเสียหายทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม” (กรมพัฒนาที่ดิน, 2558)